วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

ข่าวที่เกี่ยวข้อง



พาณิชย์ประกาศเพิ่มรายชื่อสินค้าควบคุมอีก 16รายการ รับน้ำท่วม

 

 

จากภาวะภัยพิบัติในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลง แม้ว่าทางรัฐจะทำการตั้ง ศปภ. ขึ้นมาเพื่อรับมือ วางแผน ป้องกันภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังเรียกว่า ยังไม่สามารถรับมือได้ดีเท่าที่ควรเท่าไหร่(ตามความคิดผมนะครับ) ศูนย์ ศปภ. อยู่ที่ดอนเมือง.. ข้างนอกน้ำท่วมข้างแต่ข้างในศูนย์ไฟไหม้เนื่องจากเครื่องทำกาแฟมันลัดวงจร เหอะๆ คิดดูแล้วกันครับท่านผู้อ่านที่เคารพ
 
รูปภาพจาก finder.in.th
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. เห็นชอบให้มีประกาศรายการสินค้าควบคุมเพิ่มเติม 16 รายการ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 41รายการ
สินค้าควบคุมเพิ่มเติมอีก 16 รายการ ได้แก่
1.น้ำดื่ม
2.กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า
3.ไฟฉาย
4.ถ่านไฟฉาย
5.ยาสีฟัน
6.แปรงสีฟัน
7.ทราย ทรายบรรจุถุง
8.อิฐบล็อก
9.เสื้อชูชีพ
10.เรือพลาสติกขนาดเล็ก
11.รองเท้าบูทยาง
12.เครื่องนอน
13.ถังน้ำ
14.เครื่องสูบน้ำ
15.ผลิตภัณฑ์ยาป้องกันน้ำกัดเท้า
16.เทียนไข
โดยสินค้าควบคุมทั้งหมด ต้องมีการแจ้งต้นทุนการผลิต ปริมาณ สถานที่เก็บ และกำลังการผลิตให้ทางกรมการค้าภายในทราบ และห้ามเปลี่ยนแปลงราคา โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยให้มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป จนถึงสิ้นปี 2554 ทั้งนี้ หากมีการจำหน่ายเกินราคา จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากไม่แจ้งตามประกาศ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนั้นนะครับ จากรายละเอียดข่าวปลีกย่อยที่หน้าเว็บกรมการค้าภายในก็ยังมีการประกาศกำหนดราคาน้ำดื่มขวดใส ให้ทางผู้จำหน่ายค้าปลีกกรุณาตรึงราคาไว้ดังนี้
·         น้ำดื่มขวดพลาสติกใส(Pet) ขนาด 500-600 ซีซี จำหน่ายไม่เกินขวดละ 7 บาท
·         น้ำดื่มขวดพลาสติกใส(Pet) ขนาด 1.5 ลิตร จำหน่ายไม่เกินขวดละ 14 บาท
หากพบมีการจำหน่ายเกินราคาแนะนำจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประชาชนผู้บริโภคพบเห็นการจำหน่ายน้ำดื่มเกินราคาแนะนำ แจ้งได้ที่ สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานการค้าภายในจังหวัดในท้องที่



อย. เตือนผู้ประกอบการ หยุด! ลักลอบผลิต/นำเข้า/จำหน่าย ปลาปักเป้า

อย. เตือนผู้ประกอบการ หยุด! ลักลอบผลิต/นำเข้า/จำหน่าย ปลาปักเป้า ย้ำ! อย. ไม่อนุญาตให้ผลิต/นำเข้า/จำหน่าย ปลาปักเป้า เนื่องจากการบริโภคปลาปักเป้าเสี่ยงต่อการได้รับ สารพิษเตโตรโดท็อกซิน ซึ่งหากได้รับสารพิษนี้เพียง 2 มิลลิกรัม ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ อย. ขอเตือนผู้ประกอบการ ที่ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงฯ ลักลอบผลิต/นำเข้า/จำหน่ายปลาปักเป้าและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว หาก อย. ตรวจพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีมีข่าวการลักลอบจำหน่ายปลา ปักเป้า (Puffer Fish) ซึ่งสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ขอให้ อย. ออกมาตรการให้สามารถนำปลาปักเป้า สายพันธุ์ไม่มีพิษมาจำหน่ายได้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการปิดช่องไม่ให้มีผู้หาผลประโยชน์ เรียกรับ สินบนจากโรงแล่ นั้น
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า อย. มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 264) พ.ศ. 2545 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้ปลาปักเป้า ทุกชนิด และอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย และมีผลบังคับ ใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 เนื่องจาก อย. ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก ทั้งนี้ จะเห็น ได้จากรายงานการเป็นพิษจากการบริโภคปลาปักเป้าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472-พ.ศ. 2551 พบผู้ป่วย 89 ราย เสียชีวิต 24 ราย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ อย. ต้องมีมาตรการในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด
เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ปลาปักเป้า หรือชื่อที่ใช้เรียกโดยทั่วไปคือ ปลาเนื้อไก่ เนื่องจากมีลักษณะ เหมือนเนื้อไก่นั้นมีหลายชนิดทั้งมีพิษและไม่มีพิษ ซึ่งเมื่อแล่เป็นเนื้อปลาแล้ว จะไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นชนิดที่มีพิษ หรือไม่ จึงเสี่ยงต่อการนำมาบริโภค เนื่องจากการบริโภคปลาปักเป้าผู้บริโภคอาจได้รับสารพิษเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) หากได้รับสารพิษนี้ปริมาณเพียง 2 มิลลิกรัม จะเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือหากได้รับในปริมาณต่ำ จะเกิดอาการชาที่ริมฝีปาก มือ และเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต หายใจขัด ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถเกิดได้ ภายใน 10-45 นาที ทั้งนี้ สารพิษดังกล่าวสามารถทนความร้อนได้สูง การต้ม ทอด หรือย่าง ไม่สามารถทำลายได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคถึงขั้นเสียชีวิต อีกทั้งการแล่เนื้อปลาปักเป้าที่ทำอยู่ในประเทศไทยนั้น เป็นการแล่ โดยอาศัยประสบการณ์ ผู้แล่อาจไม่มีความรู้อย่างแท้จริง จึงมีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งต่อการปนเปื้อนสารพิษ เตโตรโดท็อกซินในเนื้อปลา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มียาใดสามารถรักษาพิษดังกล่าวได้
เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ขอเตือนผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนประกาศฯ ลักลอบผลิต/นำเข้า/ จำหน่ายปลาปักเป้า ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว พร้อมกันนี้ อย. ได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้ตรวจสอบการลักลอบผลิต/ นำ เข้า/จำ หน่าย ปลาปักเป้าและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม และดำเนินการตามกฎหมายทันที ซึ่งหาก อย. พบผู้ผลิต/นำเข้า/จำหน่าย ปลาปักเป้า จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท กรณีจำหน่ายปลีกให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้บริโภคพบเห็นการกระทำดังกล่าว ขอให้แจ้งเบาะแสมาที่สายด่วน อย. 1556 เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการปราบปราบผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ของผู้บริโภคให้ถึงที่สุด สำหรับข้อเรียกร้องให้ทบทวนแก้ไขประกาศฯ นั้น อย. อยู่ในระหว่างศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการรองรับที่เหมาะสม ชัดเจน และ สามารถปฏิบัติได้ ดังนั้น ในขณะนี้จึงขอให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น