วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

Food Science



ระบบคุณภาพอาหาร 

         ISO 

          ISO ย่อมาจาก  International Organization for Standardization คือ องค์การมาตรฐานสากล หรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน เป็นองค์กรที่ออกมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ และอุตสาหกรรม ส่วนมาตรฐานที่องค์กรนี้ออกมา ก็ใช้ชื่อนำหน้าว่า ISO เช่น ISO 9000 และ ISO 14000 ซึ่งก็เป็นมาตรฐานที่ว่าด้วยระบบบริหารคุณภาพ และระบบบริหารสิ่งแวดล้อม 
              ISO จะมีสมาชิกจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก และสมาชิกก็แบ่งเป็นระดับๆ แตกต่างกันไปอีก ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศ และมาตรฐานต่างๆ ที่ออกมาก็เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ (International Standard)  นอจากนี้มาตรฐาน ISO ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรชนิดใดขนาดใหญ่ หรือ เล็ก ผลิตสินค้าอะไร หรือ ให้บริการอะไร ตัวอย่างเช่น มาตรฐาน ISO-10646-1 เป็นมาตรฐานที่โปรแกรมในปัจจุบันได้เริ่มออกแบบให้สามารถใช้ได้หลายภาษา (multilingual) โดยใช้ มาตรฐานของตัวอักษร ของ ISO/IEC 10646 (Universal Multi-octet Coded Character Set - UCS) ซึ่งเป็นระบบสำหรับเก็บข้อมูลตัวอักษรสากลในระบบ Bit(หรือ byte) ซึ่งอาจอยู่ในรูป 8 bit หลาย ๆ ตัวต่อกัน และรู้จักกันดีในชื่อ Unicode UCS หรือ UTF-8
ประโยชน์ของมาตรฐาน ISO
     1. องค์กร/บริษัท
- การจัดองค์กร การบริหารงาน การผลิตตลอดจนการให้บริการมีระบบ และมีประสิทธิภาพ
- ผลิตภัณฑ์และบริการ เป็นที่พึงพอใจของลูกค้าหรือผู้รับบริการและได้รับการยอมรับ
- ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร
- ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
     2. พนักงานภายในองค์กร/บริษัท
- มีการทำงานเป็นระบบ
- เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- พนักงานมีจิตสำนึกในเรื่องของคุณภาพมากขึ้น
- มีวินัยในการทำงาน - พัฒนาการทำงานเป็นทีมหรือเป็นกลุ่มมีการประสานงานที่ดี และสามารถ
   พัฒนาตนเองตลอดจน   เกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน
     3. ผู้ซื้อ/ผู้บริโภค
- มั่นใจในผลิตภัณฑ์และบริการ ว่ามีคุณภาพตามที่ต้องการ
- สะดวกประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่ต้องตรวจสอบคุณภาพซ้ำ
- ได้รับการคุ้มครองด้านคุณภาพความปลอดภัยและการใช้งาน
  

GMP/HACCP 

แนวทางการเลือกใช้โลหะในส่วนที่สัมผัสกับอาหาร ให้สอดคล้องกับหลักสุขาภิบาลอาหาร

แนวทางการเลือกใช้โลหะกับส่วนที่สัมผัสกับอาหาร ให้สอดคล้องกับหลักสุขาภิบาลอาหาร
ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร บรรดาอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่เอาไว้ประกอบการทำงาน ล้วนที่จะต้องไม่เพิ่มความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนกับวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปแล้ว การเลือกใช้โลหะที่เหมาะสมกับชนิดของงาน และราคาที่พอเหมาะ ก็จะช่วยทำให้ลดความเสี่ยงที่จะมีการปนเปื้อน และยังจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีีความปลอดภัยต่อการบริโภคอีกด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คนส่วนใหญ่จะรู้จักแต่เหล็กปลอดสนิม(Stainess steel)กัน แต่แท้ที่จริงแล้วมีโลหะอย่างอืนด้วยที่นักฟู้ดควรจะรู้จัก และทราบถึงคุณสมบัติพื้นฐาน และข้อกำหนดการใช้งานต่างๆ มาในบทความนี้ ที่ผมเขียนขึ้นมาด้วยความรวดเร็ว ก็จะนำเสนอในแบบสั้นกระทัดรัดตามแบบฉบับของผมเช่นเดิมครับ


ในที่นี้ผมจะจำแนกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆด้วยกันนะครับ ได้แก่ กลุ่มที่สัมผัสกับอาหารโดยตรง เช่น สายพาน, หม้อต้ม, ภาชนะ, ท่อขนส่งอาหารเหลว เป็นต้น และ กลุ่มที่ไม่ได้สัมผัสกับอาหารโดยตรง เช่น ขอบประตู, ราวบันได เป็นต้น โดยในส่วนของจุดที่สัมผัสกับอาหาร หรือตัวกลางอื่นใดที่จะไปสัมผัสกับอาหารโดยตรงนั้น หลักเกณฑ์ในการเลือกสรรโลหะที่ใช้ในการขึ้นรูปก็ควรที่จะมีพื้นผิวเรียบ ไม่มีรูพรุน ไม่กักเก็บฝุ่นผง, ทึบแสงเพื่อป้องกันมิให้แสงไปทำปฏิกิริยากับองค์ประกอบอาหารที่ไวต่อแสง, ไม่ดูดซับกลิ่น, ไม่แตกหักง่าย, ไม่ทำปฏิกิริยากับตัวอาหาร, ไม่ก่อสารพิษ, เช็ดล้างทำความสะอาดง่าย ทนทาน ทนมือทนเท้าของพนักงาน และถอดไปซ่อมบำรุงได้โดยสะดวก

ประเภทของโลหะชนิดต่างๆ

เหล็กกล้าปลอดสนิม (Stainless steel)


เพลทที่ทำจากเหล็กกล้าปลอดสนิม



        เหล็กกล้าปลอดสนิมเป็นโลหะชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากทนทานต่อการกัดกร่อนได้ดี และขึ้นใช้กับอาหารได้หลากหลายประเภท สำหรับเบอร์ของเหล็กกล้าปลอดสนิมที่มีใช้กันในอุตสาหกรรมอาหาร ตัวที่เราคุ้นหูกันดี ก็ยกตัวอย่างเช่น 300, 304, 321, 430, 446, 410 โดยแต่ละเบอร์ก็จะมีความเหมาะสมในการใช้งานแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบโลหะที่เป็นส่วนผสมที่นอกเหนือไปจากเหล็ก และโครเมียมตามตารางด้านล่าง





เบอร์      ส่วนประกอบอื่นนอกเหนือไปจากเหล็ก %โดยมวล การใช้งาน
301              Cr 17, Ni 7 งานโครงสร้างรับน้ำหนัก
304          Cr 18, Ni 10 ท่อน้ำนม, Balance tank
304L          Cr 18, Ni 9, C 0.003 ถังผสม, ถังผสมสารเคมี
321          Cr 18, Ti 10 ถังทนแรงดัน, ถังกวน, ถังผสม
410          Cr 12.5, C 0.15 วาล์ว, ท่อ, ปั๊มพ์ชาฟท์
430          Cr 17, C 0.012 แบร์ริง, วาล์ว
446          Cr 25, C 0.20 อุปกรณ์ทนแรงดัน, ส่วนที่ต้องใช้อุณหภูมิสูง
















       สาเหตุที่เหล็กกล้าปลอดสนิมได้นั้น เกิดจากการที่โลหะโครเมียมในรูปออกไซด์ไปเคลือบชั้นเนื้อเหล็ก ทำให้สนิมไม่ขึ้น ปกติแล้วถ้าเรามองดูส่วนผสมของเหล็กกล้าปลอดสนิมที่มี ก็สามารถที่จะเดาความแข็ง และราคาได้บ้างนะครับ เช่น ในเบอร์ที่มี %ของโครเมียมมากก็จะเกิดรอยขีดข่วนง่ายกว่ามากกว่าเบอร์ที่มี %โครเมียมน้อย แต่อย่างไรก็ตามลักษณะการกร่อนของเหล็กกล้าปลอดสนิม เช่น 3xx กับ 43x ก็จะไม่เหมือนกันด้วย เนื่องจากวิธีการหล่อ และองค์ประกอบ ซึ่งผมจะไม่อธิบายลึกมากนักในที่นี้


         ไทเทเนียม (Titanium)
       ไทเทเนี่ยมที่ไม่ใช่ชื่อวงดนตรีนี้ เป็นโลหะที่มีความทนทานเป็นเลิศ และทนต่อการกัดกร่อนจากบรรดากรด รวมไปถึงสภาวะออกซิไดส์รุนแรงได้อย่างดี แต่อย่างไรก็ตามนะครับ มีการใช้โลหะไทเทเนียมเป็นองค์ประกอบของอุปกรณ์แปรรูปในกลุ่มที่มีความเป็น กรดสูง (หรือpHต่ำ) และรวมไปถึงอาหารที่มีความเข้นของเกลือสูงๆ เช่น น้ำส้ม, และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะเขือเทศ แต่ข้อเสียที่เป็นประเด็นสำคัญคือ ไทเทเนียมมีราคาสูงมากๆ

วัสดุ มอดูลัสยืดหยุ่น (GPa) มอดูลัสของแรงเฉือน (GPa)
ทองแดง 110 41.4
เหล็กกล้า 200 75.8
สแตนเลสสตีล 193 65.6
อะลูมิเนียม 70 26
ไทเทเนียม 117 44.8
แพลตตินัม 168 61
เหล็กหล่อ 165 -
ยางธรรมชาติ 0.01 - 0.1 0.0003
เพชร 1,050 - 1,200 -

      สำหรับวัสดุใดๆที่มีมอดูลัสยืดหยุ่น(Modulus of elasticity หรือจะเรียกว่า Young's modulus ก็ได้) รวมไปถึงมอดูลัสของแรงเฉือน (Shear modulus) ซึ่งในตำราทั่วไปจะใช้ตัวย่อว่า G อันเป็นอัตราส่วนของ shear stress ต่อ shear rate ค่าทั้งสองตัวนี้ยิ่งสูงก็จะยิ่งมีความแข็ง ไม่หักงอโดยง่ายโดยค่า Modulas of elasticity จะใช้กับการทำให้วัสดุเปลี่ยนรูปเช่น การยืดออกไปตรงๆ ส่วนมอดูลัสของแรงเฉือนจะใช้กับการกดออกแรงกับตัววัสดุุในแนวใดแนวหนึ่ง โดยสองตัวล่างสุดอย่างยางธรรมชาติ กับเพชรนั้น ผมแปะไว้ให้ผู้อ่านจะได้นึกภาพออกว่าโลหะแต่ละอย่าง ที่มีการนำไปใช้ในการขึ้นรูปอุปกรณ์ในโรงงานนั้นมีความแข็งมากน้อยเพียงไร

แพลตตินั่ม (Platinum)
        โลหะชนิดนี้มีความทนทานต่อทานต่อสภาวะการกัดกร่อนจากความเข้มข้นเกลือเป็น เลิศ ทนทานกว่าไทเทเนียมเสียอีกนะครับ แต่โลหะชนิดนี้หายากและมีราคาสูง
 
ทองคำ (Gold)
        โลหะที่มีราคาแพงมากชนิดนี้ ถึงจะไม่ได้นำไปใช้ในการขึ้นรูปอุปกรณ์โดยตรง เพราะปกติแล้วเนื้อของทองคำจะนิ่มมาก แต่ในงานการวัดคุม จะใช้โลหะทองคำเป็นชิ้นส่วนในอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจวัดที่ต้องการความแม่นยำ สูง เช่น ไฟเบอร์ออปติค ซึ่งปกติแล้วทองคำจะเป็นชิ้นส่วนของอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์หลายๆอย่าง อาจจะรวมไปถึงเมนบอร์ดพีซีรุ่นเก่าๆที่ผู้อ่านกำลังใช้อยู่ด้วย นอกจากนั้นทองคำยังหลอรวมตัวกับแก้วได้ดีซึ่งเป็นข้อจำกัดของโลหะอื่นๆอีก จุดเด่นอีกข้อของทองคำก็คือไม่เป็นพิษกับร่างกาย


ทองแดง (Copper)







หม้อต้มที่ทำจากทองแดง

       มีการทองแดงใช้้ขึ้นรูปเป็นหม้อต้มเบียร์ และรวมไปถึงหมอต้มเนยแข็งประเภท Swiss ด้วย ซึ่งก็เป็นการสืบทอดขนบธรรมเนียมในการผลิตเนยแข็งชนิดดังกล่าว ถ้าเป็นบ้านเราที่มีการใช้หม้อทองเหลืองทองแดงก็จะเป็นหม้อต้มบัวลอย... แต่อย่างไรก็ตามโลหะทองแดงจะทำปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วกับอาหารที่มีความเป็น กรด และยังเป็นตัวเร่งให้เกิดปฏิกิริยาสีน้ำตาลในผักผลไม้
 
อะลูมิเนียม (Aluminum)
         มีน้ำหนักเบา ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ราคาถูก ขึ้นรูปง่าย ขัดล้างทำความสะอาดได้ แต่มีข้อเสียคือกัดกร่อน และหักกรอบได้ง่าย จึงมีการผสมอัลลอยด์ และโลหะประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มความแข็งให้กับเนื้ออะลูมิเนียม รวมไปถึงวิธีในการขึ้นรูป เพื่อลดปัญหาผลึกอะลูมิเนียมไม่รวมตัวกับธาตุอื่นๆ นอกจากนั้นก็ยังมีการนำอะลูมิเนียมไปผสมกับผงพลาสติคเช่น โพลีเตตระฟลูออโรเอทิลีน (polytetrafluorethylene) หรือที่เรารู้จักในนามว่า Teflon® เพื่อเคลือบผิวอุปกรณ์อาหาร และแปรรูปอาหารด้วย
 


เหล็กหล่อ (Carbonized metal and cast iron)

กะทะเหล็กหล่อ
        จะเป็นโลหะผสมที่มี เหล็ก, คาร์บอน 2-3% และ ซิลิกอน 0.5-30% ซึ่งก็แล้วแต่เกรดของโหละด้วย นอกจากนั้นก็จะมีการใส่ ธาตุอัลลอยด์อื่นเข้าไปด้วยเพื่อให้ทนต่อการขัดสี เช่นซัลเฟอร์, ฟอสฟอรัส เป็นต้น ใช้สำหรับขึ้นรูปกะทะ หรือหม้อต้ม เป็นต้น อย่างไรก็ตามเหล็กหล่อมีความแข็ง และเหนียวน้อยกว่าเหล็กกล้าปลอดสนิม แต่ก็ยังมีราคาถูกกว่าด้วย
 
เหล็กกัลวาไนซ์ (Galvanized iron)


เหล็กกัลวาไนซ์
        เหล็กกัลวาไนซ์ได้มาจากการนำเอาเหล็กไปชุบในอ่างสังกะสีีร้อน หรืออาจจะชุบด้วยกระแสไฟฟ้าก็ได้ เพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันสนิมขึ้นบนกับตัวชิ้นเหล็ก ปกติแล้วโลหะชนิดนี้ไม่ควรใช้ขึ้นรูปอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ที่้สัมผัสกับอาหารโดยตรง เนื่องจากโลหะ สังกะสี Zn ที่เคลือบผิวภายนอก เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นยอดในปฏิกิริยาสารพัดที่ทำให้อาหารเปลี่ยนแปลง คุณภาพ


ระบบคุณภาพอื่นๆ


หลักการบริหารคุณภาพ14ข้อของ Deming

 


         เรื่องของการการจัดการคุณภาพนั้น ก็มีแนวคิดที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นของ Shewhart ที่จับหลักสถิติมารวมกับหลักการบริหารได้อย่างกลมกลืน, Juran เจ้าของแนวคิดในการแก้ปัญหาจุดเล็กๆ และ Crosby เจ้าของแนวคิด Zero Defect Culture ซึ่งมีองค์กรหลายแห่งเอาแนวคิดไปปรับใช้ในการสร้างคุณภาพของสินค้า ผลิตภัณฑ์ของตัวเองมาเป็นเวลานาน ประเทศที่โดดเด่นในเรื่องของการนำหลักการที่เขียนอยู่ในกระดาษของผู้รู้ กูรูหลายๆท่านมาใช้งาน จนสร้างคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นบทความนี้ที่เขียนก็เขียนโดยความรู้ และประสบการณ์การทำงาน(อันเล็กน้อยเหลือเกิน)ของคนฟู้ด เพื่อให้คนฟู้ดอ่านกัน ก็หวังว่าจะจูนกันติด และเข้าใจอะไรเป็นรูปธรรมกันได้ง่ายมากขึ้นนะครับ สำหรับแนวคิดเรื่องหลักการบริหารคุณภาพที่ผมจะเสนอในบทความนี้ เป็นแนวคิด 14 ข้อของนักคิด, นักสถิติ, อาจารย์, ผู้เชี่ยวชาญพิเศษชื่อดัง อย่าง William Edwards Deming ปัจจุบันท่านก็ไปนอนคุยกับรากมะม่วงแล้ว และแนวคิด Deming 14point ก็เรียกว่าทำความเข้าใจได้ไม่ยากด้วย ส่วนหนึ่งจาก 14ข้อนั้น อย่าง PDCA ก็กลายมาขั้นตอนในกระบวนการต่อยอดของระบบมาตรฐานคุณภาพอย่าง TQM, 6 Sixma ด้วย

14 ข้อที่ว่า มันมีอะไรบ้าง?

ในการอธิบายหลักการบริหารคุณภาพ 14 ข้อของ Deming ผมจะขอนำเสนอจากความเข้าใจ และประสบการณ์ของผมเป็นหลักนะครับ ซึ่งผมจะไม่สนใจหรอกว่าตัวบทของจริง มันจะแปลยังไง เพราะผมใช่นักบาลี ไม่เคยท่อง แต่ผมเองก็เชื่อมาเสมอมาว่า การนำหลักการ(ในทุกอย่าง)มาปรับใช้ ให้เข้ากับเรานั่นแหละที่สำคัญที่สุด




  1. เริ่มแรกเราตั้งปณิธานที่จะพัฒนา ปรับปรุงสินค้าของตัวเองให้มีคุณภาพอยู่เสมอ ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการจะทำอะไรกับคนจำนวนมาก เราต้องจูนภาครับของคนในองค์กรให้คิดเหมือนเรา และแสดงจุดดีของการเปลี่ยน แต่ต้องไม่ใช่การบังคับให้เชื่อนะครับ เพราะมันจะไม่เกิดผลในระยะยาว
  2. หมุนตามโลก ไม่ใช่ยึดเอาตัวเอง เป็นศูนย์กลางจักรวาล เปิดรับ และยอมรับปรัชญาใหม่ๆ คนที่หยุดนิ่งไม่ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เท่ากับถอยหลัง การบริหารคุณภาพ ไม่มีอะไรที่ดีที่สุดเสมอไป จงเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่ทันกับโลกปัจจุบัน และจำเป็นกับองค์กร
  3. ยุติแนวคิดที่ว่าคุณภาพมาจากการตรวจสอบ แต่ให้เข้าใจ และเชื่อว่าคุณภาพมาจากการลงมือทำ การตรวจสอบเป็นเครื่องมือควบคุมคุณภาพเท่านั้น ซึ่งการที่เราเน้นการตรวจสอบมากเกินไป จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละจุดเกิดความเครียดกลัวว่าจะถูกจับผิด ซึ่งที่จริงแล้ว ในการบริหาร เราต้องใช้เครื่องมืออีกสองตัวร่วมด้วย ได้แก่ การประกันคุณภาพ และการบริหารคุณภาพ
  4. สำหรับการจัดหาทรัพยากร, วัตถุดิบแล้ว ราคาไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด คุณภาพและความไว้วางใจต่างหากคือคำตอบในการจัดซื้อ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การซื่อสัตย์ต่อกันทั้งสองฝ่าย จะทำให้เรามีวัตถุดิบที่มีคุณภาพป้อนเข้าระบบการผลิตได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าอีกฝ่ายจะยัดไส้อะไรมาให้หรือเปล่า
  5. มีแผนการที่จะรองรับการขยายตัวในอนาคต โดยพร้อมที่จะปรับแก้ตัวคุณภาพ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของต้นทุน รวมไปถึงปัจจัยการผลิตที่จะเปลี่ยนแปลงได้
  6. จัดให้มีระบบการสอนงาน มีการฝึกอบรมเพื่อให้เข้าใจหลักการทำงานในแต่ละจุดที่ปฏิบัติงาน และรวมถึงอธิบายกฏเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รวมกันด้วย ความเข้าใจในงานและความสัมพันธ์ที่ดีขององค์กร มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพได้ด้วยนะ
  7. สร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อทำให้มีทางเลือกในการตัดสินใจในภาวะคับขัน ไม่ใช่ว่าคนตัดสินใจไม่อยู่ ก็ไม่มีใครกล้าตัดสินใจ...ซึ่งทำให้เสียโอกาสไป
  8. จงขจัดความกลัวที่จะซักถาม โดยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ อะไรไม่รู้ หรือไม่แน่ใจควรถามผู้รู้ หรือ ผู้มีประสบการณ์ คนไม่รู้ไม่ได้แปลว่าโง่เสมอไป
  9. จงทำลายข้อจำกัดการร่วมมือของแต่ละหน่วยย่อยในองค์กร ให้เชื่อมั่นว่าคุณภาพเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน
  10. ข้อนี้น่าจะโดนใจบรรดาเซลล์นะ การมุ่งเน้นตัวเลขยอดขาย หรือปริมาณการขายแต่เพียงอย่างเดียวทำให้สินค้ามีคุณภาพจากการผลิต และบริการหลังการขายลดลง

  11. เพื่อให้เกิดวงจรคุณภาพในองค์กร จงใช้วัฏจักร Deming ในการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง Plan - Do - Check - Act หรือ PDCA โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มจาก Plan ก็ได้ครับ เพราะบางครั้งคุณภาพมาจากการทดลองทำ ลองผิดลองถูก ซึ่งการใช้วัฏจักรนี้ก็มีนำไปใช้ใน TQMเหมือนกัน 
  12. ยาหอม คำชื่นชมใช้ได้ทุกกับทุกยุคทุกสมัย จงชมเชยหรือให้รางวัลกับบุคลากรเมื่อทำดี เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน
  13. นอกเหนือไปจากการสอนงาน เราควรจะทำการฝึกอบรมบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ ให้บุคลากรได้มีโอกาสในการหาความรู้เพิ่มจากการสัมมนา การดูงานบ้าง พาไปเปิดหูเปิดตาเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ เผื่อว่าจะได้แนวคิดใหม่ๆ ที่ทันสมัยไม่ตกเทรนด์มาปรับใช้
  14. โดยให้ทุกคนตระหนักว่าตัวเองคือส่วนหนึ่งที่สำคัญขององค์กร ถ้าเปรียบองค์กรหรือโรงงานเหมือนเรือยาว ถ้าทุกคนไม่จับพาย แล้วเรือขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไร ในทำนองเดียวกันครับหัวหน้างาน และคนงาน ทุกคนมีค่าเท่ากับ 1 เหมือนกันหมด การขัดแย้งในความคิดย่อมจะมีในทุกชุมชนที่มีการอยู่ร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดความขัดแย้ง ให้เราย้อนกลับไปดูข้อ 1 และข้อ 2 เพื่อปรับแนวคิดที่จะเอาชนะอีกฝ่ายเสียก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น