9point Hedonic scales
การทดสอบความชอบของผู้บริโภคด้วยวิธี 9Point Hedonic Scales Test นิยมใช้ในการทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค
หรือใช้ทดสอบการยอมรับหลังจากได้พัฒนาสูตรต้นแบบเสร็จแล้ว
โดยเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากมีความง่าย
แม้มีตัวอย่างเดียวก็สามารถใช้วิธีนี้
ทดสอบความชอบของผู้บริโภคที่มีต่อตัวผลิตภัณฑ์หรือตัวอย่างที่นำมาทดสอบได้
นอกจากนั้นยังสามารถประยุกต์แบบฟอร์ม เพื่อหาความชอบโดยรวมของกลุ่มผู้บริโภคที่มีต่อคุณลักษณะต่างๆได้เช่นเดียวกัน
อันเป็นการต่อยอดทางความคิด ซึ่งการออกแบบฟอร์มที่ดีจะต้องกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ
เนื่องจากผู้ทดสอบทั่วไปไม่ชอบการนั่งเขียนพรรณนาความชอบเป็นหน้ากระดาษ
การใช้ตัวเลขเพื่อใช้บอกความชอบจึงเป็นทางออกในการเก็บข้อมูลที่ตรงไปตรงมา
ได้แปรผลทางสถิติง่ายที่สุดด้วย
สมมติว่ามีตัวอย่างการพัฒนาน้ำส้มยูเอชทีที่มีการใส่เกล็ดส้มลงไปด้วย
หากเราต้องการอยากทราบว่ากลุ่มผู้ทดสอบตัวอย่างชอบสูตรไหนมากกว่ากัน
ชอบมากเท่าไหร่ ระดับความชอบอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้หรือไม่
ก็มีเทคนิคในการวิเคราะห์แปรผลความชอบง่ายๆ
โดยเริ่มจากการสุ่มใส่เลขรหัสของตัวอย่างลงไปก่อน

จากนั้นก็เซิร์ฟตัวอย่างทั้งสอง ให้กับผู้ทดสอบทีละตัวอย่าง
หรือ เซิร์ฟพร้อมกันก็ได้ โดยให้ผู้ทดสอบชิม
และระบุตัวเลขระดับความชอบลงไปในแบบฟอร์มที่ออกแบบไว้

นี่เป็นตัวอย่างของการออกแบบแบบฟอร์มทดสอบความชอบของ 9Points Hedonics Scale แบบง่ายๆ
ซึ่งผู้อ่านบทความนี้ สามารถนำตัวอย่างนี้ไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาสูตรได้
ยกตัวอย่างเช่น การวัดความชอบของแต่ละคุณลักษณะที่ปรากฏโดยอาศัยรูปแบบการทดลองของ 9Point
Hedinic Scales ตามตัวอย่างแบบฟอร์มด้านล่าง

แบบฟอร์มข้างต้นนี้ใช้เพื่อเก็บข้อมูลความพึงพอใจของผู้บริโภคในคุณลักษณะต่างๆ
แล้วจึงเก็บข้อมูลตัวเลขไปแปรผลการทดสอบโดยทดสอบความแตกต่างด้วย t-test หรือวิเคราะห์ความแปรปรวน
ANOVA นอกเหนือไปจากนี้แบบฟอร์มข้างต้นนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์เพื่อการประเมินทางประสาทสัมผัสด้วย
Ratio Profile Test กับตัวอย่างในอุดมคติ
ที่จะมีการเปรียบเทียบคุณลักษณะปรากฏด้วยการใช้แผนภาพใยแมงมุม
แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงปฏิบัติ
หลักการพัฒนาผลิตภัณฑ์เราสามารถที่จะนำไปปรับใช้งานกับการผลิตในไลน์ต่างๆได้สารพัด
ไม่เพียงแต่สายอาหารตามคอมเซปท์ของเราเท่านั้นนะครับ อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ
ยกตัวอย่างเช่น เครื่องจักรการผลิต, รถยนต์, เฟอนิเจอร์, ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ เป็นต้น
ก็ต้องมีการที่จะต้องรู้จักนำหลักการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปใช้ทั้งนั้น
ผู้ผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่ติดตลาด เอาออกมาขายแล้วก็นั่งๆนอนๆ
ถ้าแบรนด์ไม่แข็งจริง
หรือผู้บริโภคเขาสร้างกลุ่มลัทธิบริโภคแบรนด์นิยมตรงนั้นขึ้นมา
ก็มีสิทธิตกกระป๋องในเวลาไม่นานได้เหมือนกันครับ
เพราะทันทีที่สินค้าตัวไหนก็ตามแต่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค
ย่อมจะมีคู่แข่งที่ต้องการส่วนแบ่งการตลาดเสมอๆ
แนวทางในเชิงปฏิบัติของงานทางพัฒนาผลิตภัณฑ์
พร้อมตัวอย่างอธิบายประกอบ มาอธิบายประกอบด้วย
ซึ่งมันก็คือการด้นสดทั้งนั้น..เพื่อให้ผู้อ่านโดยทั่วไปสามารถเข้าใจได้โดยง่าย
ก็จะอธิบายเรื่องใกล้ตัว ไม่นับเฉพาะอาหารมาแต่เพียงอย่างเดียว
1. การปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์เดิม
เปลี่ยนรูปร่างและโครงสร้าง
เริ่มแรกก็จะขอยกตัวอย่างที่ไม่ใช่อาหารกันก่อนนะครับ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการปรับเปลี่ยนรูปร่างและโครงสร้าง
โดยที่คงคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ไว้ ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์
หลายๆยี่ห้อในบ้านเรา รถที่ออกปี 2008 กับ2010 นอกจากกระจังหน้า
แล้วท้ายแล้ว อย่างอื่นที่เป็นองค์ประกอบหลักเช่น ระบบเครื่องยนต์, ช่วงล่าง, ระบบไอเสีย แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย
การ์ดจอ และซีพียูบางยี่ห้อ... ก็ทำกันได้เหมือนกัน
ถ้าสนใจเรื่องสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ เราจะพบว่าการ์ดจอบางตัวที่ออกมาในระยะเวลาปีเดียวกัน
ตัวชิปกราฟฟิกที่ทำหน้าที่ประมวลผลระหว่างตัวล่างกับตัวรุ่นกลาง
ก็เป็นตัวเดียวกันรุ่นเดียวแท้ๆ ใช้code nameการผลิตเหมือนกัน
เพียงแต่ว่าทางโรงงานเขาทำการโอเวอร์คล็อกให้มีสปีดนาฬิกาสูงขึ้นเล็กน้อย
แต่ถ้าเป็นตัวอย่างของผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในรูปแบบนี้
ผมขอยกตัวอย่างแหนมครับ เรามีทั้งแหนมแท่งขนาดใหญ่ ขนาดพอดีบริโภค และแหนมตุ้มจิ๋ว
แหนมทุกแบบที่ว่ามาสามารถเอามาบริโภคได้เหมือนกัน ทั้งยำ บริโภคสด
ซึ่งไม่ว่าจะแหนมแท่ง แหนมตุ้ม ทุกอย่างเหมือนเดิมหมดไม่ว่าจะเป็นสูตรการผลิต
บรรจุภัณฑ์ โดยแตกต่างกันเพียงขนาดบริโภคที่ผู้ผลิตมีทางเลือกในการเลือกซื้อให้กับลูกค้าผู้ซื้อ
ปรับปรุงกรรมวิธีและเครื่องจักรการผลิต
การปรับปรุงกรรมวิธีการผลิต
เป็นการพัฒนากระบวนการผลิตโดยที่คงสูตรเดิมไว้ เช่น
การใช้เครื่องมือเครื่องจักรมาช่วยผลิตแทนมือมนุษย์ ซึ่งก็เป็นขั้นตอนของการขยับขยายเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต
และเพิ่มความเที่ยงตรงในการผลิต
หรืออาจจะมีความตั้งใจในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรโดยเหตุผลในการอนุรักษ์พลังงาน
นอกจากนั้นการปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตอาจจะเกิดเพื่อแก้ไขจุดด้อยของการผลิตตามจุดต่างๆของการผลิตด้วย
เช่น เพื่อลดการปนเปื้อน, ลดการสูญเสียสารอาหาร
ปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์
จะยกเรื่องการพัฒนาสูตรของผงซักฟอกในอดีตนะครับ
ในอดีตนั้นเจ้าตลาดไม่ใช่ยูนีลิเวอร์
แต่เป็นอีกเจ้านึงที่เอาผงซักฟอกสูตรญี่ปุ่นมา
ซึ่งจากการที่ผู้ท้าชิงอย่างยูนิลิเวอร์รู้จักทำสินค้าออกมาขายคนไทย
รู้ใจว่าแม่บ้านชาวไทยของเราชอบผงซักฟอกแบบฟองเยอะๆ ยิ่งเยอะยิ่งขยี้มันมือ
และฟองเยอะแล้วสะใจดี
ขนาดว่าซักด้วยเครื่องยังขอเอามือไปขยี้พอเป็นพิธีอีก...แต่อย่างไรก็ตามครับ
ปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากฟองเยอะ
ก็เป็นส่วนประกอบที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผงซักฟอกเช่นกัน
2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
ตัวอย่างของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เห็นชัดๆ
และผมก็ทึ่งกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดนี้อย่างมากก็คือ บรรดาเนื้อสัตว์เจทั้งหลาย
เช่น หมูแดงเจ, กระเพาะปลาเจ
ซึ่งผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าเขามีวิธีในการทำ ปรับสูตรยังไงถึงได้เนื้อสัมผัส
และลักษณะภายนอกที่ใกล้เคียงกับของธรรมชาติ
นอกจากตัวอย่างข้างต้นก็จะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆขึ้นมา
เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ผมเคยเอาคลิปของโรงงานมาม่ามาให้ชมในเว็บของเราแล้วนะครับ
ซึ่งจะมีส่วนของการสรรหาสูตรบะหมี่ใหม่ๆ โดยการตระเวณกิน ลองหาชมในเว็บละกัน
ประโยชน์ของการพัฒนาใหม่นั้น
นอกเหนือไปจากการที่จะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่มาขาย ซึ่งบางทีจริงๆแล้ว
ทางผู้ผลิตเองก็อาจจะมีเหตุผลอื่นๆด้วยนะเออ เช่น
ต้องการขอปรับแจ้งราคาใหม่กับกรมการค้าภายใน
ซึ่งกลไกในการปรับขอขึ้นราคากับตัวผลิตภัณฑ์ตัวเก่าที่เคยแจ้งจดไปแล้ว
จะทำได้ยากเย็นมาก แต่ถ้าเราจดทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่แล้วยื่นราคาใหม่เลย
ก็จะทำได้ง่ายกว่า เช่น นมหวานยูเอชทีปกติจะกล่องละ 11บาท ถ้าผู้ผลิตขอขึ้นเป็น 12.50บาท ตามราคาจริงที่ควรขาย(คิดจากต้นทุนที่เพิ่ม) รับรองว่ายากครับ...
แต่ถ้าใส่แคลเซียมสักนิด ผสมไวตามินดีสักหน่อย แล้วทำการจดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
กลายเป็นนมหวานยูเอชทีผสมแคลเซียมและไวตามินดี โดยตั้งราคา13บาท
ก็จะปรับราคาง่ายกว่า...และโรงงานอยู่ได้ด้วย
แล้วก็ทิ้งท้ายไว้กับความหัวใสของผลิตภัณฑ์อุทัยทิพย์..
โดยวิจัยพฤติกรรมการใช้ของผู้ซื้อ(มั้ง?) คงจะเคยเห็นสาวๆ เอาน้ำยาอุทัยทิพย์ที่เหยาะน้ำดื่มมาทาปากนะครับ
สาวๆแถวนี้เขาว่าสีมันติดริมฝีปากนาน
โรงงานเขาก็เลยแตกออกมาเป็นตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ซะเลย แล้วยังขายได้อีกต่างหาก
3. การปรับปรุงเฉพาะบรรจุภัณฑ์
จะหาบรรจุภัณฑ์ใดเล่าที่จะอินเทรนด์ในช่วงกาลนี้
เทียบเท่ากับบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ถ้าไม่ใช่วัสดุที่สามารถย่อยสลายด้วยตัวเอง
ก็ทำแบบ Re-fillออกมาเพื่อลดปริมาณขยะชิ้นใหญ่
ผู้ผลิตได้ทั้งภาพลักษณ์ ในวงการอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง
ถ้าใกล้ตัวหน่อยที่รู้จักกันดีก็ได้แก่ การนำเอาถุงทนร้อน หรือ เพาช์
มาใช้กับอาหารกระป๋องแทนกระป๋อง TFS เพื่อลดการใช้โลหะลง(แต่ก็ต้องแลกกับการปรับกระบวนการผลิตด้วย)
แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารก็มีการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์
เพื่อลดการใช้โลหะในส่วนของกระป๋อง โดยใช้โพลีเมอร์มาเป็นส่วนประกอบในส่วนของเนื้อโลหะ
เราเรียกสิ่งนั้นว่า กระป๋อง TULC
หรือที่มาแล้วไปแล้วอย่างรวดเร็ว ก็ได้แก่
"ตราหมีบีบ"
ที่ออกมาบรรจุภัณฑ์สะดวกใช้ให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเลือกซื้อ
บอกตรงๆว่าผมชอบบรรจุภัณฑ์ตราหมีบีบแบบนั้นมากๆครับ เพราะมันใช้สะดวกดี
หนึ่งคือไม่ต้องเจาะ ไม่ต้องง้อที่เปิดกระป๋อง สองคือขนาดพอดีมือมาก
ตอนนมเต็มๆสามารถยกแทนดัมเบลได้ สามคือฝามันปิดได้ เด็กที่อยู่หอจะชอบมาก
เพราะว่าหลายคนไม่มีตู้เย็น พอเจาะนมข้นหวานแล้ว ถ้าไม่หาตู้เย็นแช่
ก็รับรองว่านมข้นได้ขึ้นราแน่
การแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด
แย่งชิงพื้นที่การวางตัวสินค้าบนชั้นวาง
ในด้านการผลิตนักอุตสาหกรรมอาหารมีหน้าที่ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดต่างๆของวัตถุดิบที่มี
ส่วนงานอื่นๆนอกจากนี้ก็จะเป็นส่วนของการโฆษณา การกระจายสินค้า
แต่เชื่อเถอะครับว่าถ้าสินค้ามีคุณภาพดีจริง ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
และอยู่ในกระแสสังคม ยังไงๆมันต้องขายได้
ดังนั้นผู้ที่หยุดการพัฒนาในแง่ต่างๆข้างต้น อยู่ดีๆก็อาจจะกลายเป็นผู้แพ้
ต่อให้ปัจจุบันคุณอยู่บนยอดเขาแต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่คุณมีผู้ตาม
ผู้นำตลาดก็อาจจะร่วงลงมาได้เช่นกัน จริงๆแล้วคำว่าชัยชนะของการตลาดอาจจะไม่จำเป็นว่าผลิตภัณฑ์ของเราจะต้องมีส่วนแบ่งมากที่สุด
แต่ที่ถูกต้องก็คือ
การที่ผลิตภัณฑ์ของเรานั้นมีส่วนแบ่งตลาดในจุดที่ผู้ผลิตพึงพอใจ
และคุ้มค่าการต้นทุนต่างๆ ซึ่งการจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราสู้กับแบรนด์อื่นๆได้
ผมได้แนะนำแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้างต้นไว้แล้ว
Duo-Trio Test
วิธีการจำแนกความแตกต่างของตัวอย่างกลุ่ม 2 ตัวอย่าง
โดยการประเมินทางประสาทสัมผัส ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างไปจากวิธี Triangle
Test อยู่เล็กน้อยนะครับ สำหรับวิธีนี้เราจะมีตัวอย่างมาตรฐานตัวนึง
แล้วในการทดสอบ ก็จะให้ผู้ทดสอบของเราทำการเลือกตัวอย่าง 1จาก2ตัว แล้วพิจารณาเปรียบเทียบด้วยประสาทสัมผัส
ว่าตัวไหนที่เหมือนกับตัวอย่างมาตรฐาน ฟังที่ผมอธิบายแล้วอาจจะมึน
ดูภาพประกอบดีกว่า
ขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์ความแตกต่างทางประสาทสัมผัสด้วยเครื่องดื่มน้ำดำเหมือนเดิมครับ
เพราะขี้เกียจทำรูปใหม่...จริงๆหลักการประเมินทางประสาทสัมผัสโดยการวิเคราะห์เชิงนี้
ไม่จำเป็นว่าจะต้องจำกัดเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารนะครับ
อะไรที่ใช้การประเมินประสาทสัมผัสก็สามารถใช้วิธีในทำนองนี้ได้เหมือนกัน
วิธีการทดสอบ DUO TRIOTEST
คุณแยกออกไหมครับ
ระหว่างมุมน้ำเงิน กับ มุมแดง

ซ้ายมือสุดคือ ตัวอย่างมาตรฐานR ผู้ทดสอบจะต้องประเมินประสาทสัมผัสว่า... แก้วไหนกันแน่ระหว่างที่เลเบลด้วยเลข
200หรือ 987 ที่เหมือนกับตัวอย่างมาตรฐาน
R
สำหรับวิธีประเมินทางประสาทสัมผัสด้วยวิธีนี้
โอกาสที่ผู้ทดสอบแต่ละคนเลือกแก้วถูกจะอยู่ที่ 50% วิธีนี้ก็เป็นวิธีการจำแนกความแตกต่างโดยรวม
(Overall Different Test หรือ Overall Discrimination
Test) แบบง่ายๆวิธีนึง ซึ่งมีประโยชน์มากในการพัฒนาผลิตภัณฑ์

ส่วนขั้นตอนต่อไปที่สำคัญคือการทดสอบสมมติฐาน
ซึ่งเราจะต้องทำการตั้งสมมติฐานในลักษณะนี้นะครับ
สมมติฐานหลัก
H0 : ผู้บริโภคแยกความแตกต่างไม่ได้
สมมติฐานรอง
H1 : ผู้บริโภคแยกความแตกต่างได้
แล้วต่อจากนั้นเราต้องมีการกำหนดนัยสำคัญทางสถิติ
และตัวทดลองที่คิดว่าเหมาะสมกับจำนวนตัวอย่างนี้ประกอบกัน
ผมเองไม่ค่อยชอบแบบฟอร์มที่มีช่องให้ผู้ทดสอบกรอกเยอะๆนะ
ผมมองว่าในส่วนตรงนั้น เราในฐานะคนออกแบบการทดสอบต้องเป็นคนใส่เอง
อาจจะใส่โค้ดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเหยื่อ ที่สละเวลามาช่วยทำการทดสอบ
ลองนึกภาพตอนที่เราไปเดินห้างสิครับ
ใครๆก็คงจะไม่ชอบที่จะต้องมานั่งกรอกข้อมูลลงในเอกสารทีละหลายแผ่นแน่นอน
ผมละเกลียดนักเชียว แบบฟอร์มที่ให้กรอกอายุแบบไม่ตั้งช่วงอายุมาให้
ดังนั้นการออกแบบฟอร์มจะต้องง่าย และเน้นในส่วนที่เราต้องการ
และผู้ทดสอบเข้าใจง่าย ถึงจะเป็นแบบฟอร์มที่ใช้งานได้ดี
Triangle Test
ในเมื่อผมเปิดหมวดย่อยในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว
การนำเสนอหลักการทดสอบทางประสาทสัมผัส ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนขึ้นมา
เพื่อเราๆท่านๆ
จะได้วิเคราะห์ความแตกต่างทางด้านประสาทสัมผัสได้อย่างมีหลักการนะครับ
ก็เริ่มต้นจากวิธีที่ง่ายที่สุดกันก่อน นั่นคือ Triangle Test ซึ่งเอาไว้ใช้สำหรับวิเคราะห์แยกความแตกต่าง(Difference
Test) ของตัวอย่างสองในสาม
โดยหนึ่งในนั้นจะเป็นตัวที่แตกต่างกันออกไป
ทำให้เราได้ทราบว่าผู้ทดสอบนั้นสามารถแยกกลุ่มได้หรือไม่
เพื่อให้เห็นภาพนะครับ
น้ำอัดลมน้ำดำสองยี่ห้อนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนดี

ถ้ากินจากแก้ว สารภาพครับว่า ผมยังแยกไม่ออกเลยว่า
เปปซีกับโคคาโคลามันรสชาดต่างกันยังไง อันไหนซ่ากว่ากัน
หรืออันไหนที่หวานกว่ากัน...แล้วผู้อ่านแยกออกไหมครับว่ามันต่างกันยังไง
วิธีการทดสอบ TRIANGLE TEST
ก่อนอื่นนะครับ เราก็ต้องเตรียมตัวอย่างสามตัวอย่าง
โดยที่มีการเลเบล(label)เลขรหัส ซึ่งมีประโยชน์ช่วยในการบันทึกข้อมูล สมัยผมเรียนเขาจะมีตารางเลขสุ่มมาให้ของเมลการ์ด
ผู้ทดสอบหรือเหยื่อของเราต้องไม่ทราบว่า ในแต่ละตัวอย่างนั้นใส่อะไรลงในแก้วไหน

สำหรับการวิเคราะห์นั้นนะครับ
เราจะทำการวิเคราะห์โดยจะให้ผู้ทดสอบ ชิมหรือทดสอบทั้งสามตัวอย่างก่อนที่จะบอกว่า
"แก้วใด จาก1ใน3นั้นที่มีรสชาดแตกต่างออกไป" ซึ่งโอกาสที่ผู้ทดสอบจะแยกถูกอยู่ที่
33.3333% หรือ 1ใน3
จะเห็นว่าวิธีนี้มีรูปแบบง่ายมากใช่ไหมครับ
ก็มันง่ายจริงๆนั่นแหละ แล้วก็อย่าลืมเรื่องของจำนวนผู้ทดสอบด้วยนะครับ ยิ่งเยอะ
ก็จะยิ่งลดความแปรปรวนลงได้ การใช้ตัวอย่างน้อยๆจริงๆก็ทำได้เหมือนกัน
ถ้าได้มีการฝึกฝนผู้ชิมแล้ว แต่ถ้าผู้ชิมไม่ใช่โปร หรือเซียนในด้านดังกล่าว
ก็ให้ใช้จำนวนผู้ทดลองเยอะๆไว้ก่อน ความคลาดเคลื่อนจะได้ลดลงบ้าง

ส่วนขั้นตอนต่อไปที่สำคัญคือการทดสอบสมมติฐาน
ซึ่งเราจะต้องทำการตั้งสมมติฐานในลักษณะนี้นะครับ
สมมติฐานหลัก
H0 : ผู้บริโภคแยกความแตกต่างไม่ได้
สมมติฐานรอง
H1 : ผู้บริโภคแยกความแตกต่างได้
แล้วต่อจากนั้นเราต้องมีการกำหนดนัยสำคัญทางสถิติ
และตัวทดลองที่คิดว่าเหมาะสมกับจำนวนตัวอย่าง
ซึ่งผมได้อธิบายไปในส่วนของเรื่องสถิติไว้แล้วนะครับ
ลองกลับไปอ่านบทความในบล็อกนี้ดู
TRIANGLE TEST มันมีประโยชน์ยังไง
ในความง่ายของวิธีนี้มันกลับมีประโยชน์มากมาย
สมมติว่าเราพัฒนาสูตรอาหารที่มีความคล้ายคลึง(หรือเลียนแบบ) กับสินค้าเจ้าตลาด
แล้วผู้ทดสอบส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้
นั่นก็แปลว่าเราประสบความสำเร็จในการลอกเลียนสูตรอาหารแล้วนะจ๊ะ หรือในอีกกรณีคือ
การพัฒนาสูตรอาหารเพื่อทดแทนของที่มีอยู่เดิมแล้ว
หรือทดสอบการยอมรับผลิตภัณฑ์ใหม่กับของเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น สมมติว่าเราจะเปรียบเทียบกุนเชียงสูตรมาตรฐาน
กับกุนเชียงที่มีการใช้สารเคมีอื่นแทนฟอสเฟต เป็นต้น
ไม่สามารถดูรูปได้อ่าาค่ะ
ตอบลบอยากทราบว่าถ้าจะทดสอบสูตรมาตรฐานกับสูตรที่พัฒนาแล้ว มีทั้งหมดแค่2สูตร เราควรใช้วิธีไหนหรอคะ
ตอบลบ